ผู้เขียน Andy Paine
ผู้แปล กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
บรรณาธิการ Editorial Team
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกที่ Jacobin
บทแปลชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School
อะบอริจินเผ่าวันกัน (Aboriginal Wangan) และจากาลิงกู (Jagalingou) ยืนหยัดต่อต้านเหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย
บริษัทอดานี (Adani) เดินหน้าผลักดันโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีความขัดแย้งและมีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย การที่อะบอริจินเผ่าวันกันและจากาลิงกูต่อต้านโครงการนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเด็ดเดี่ยวและสร้างสรรค์ ที่เราจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อความยุติธรรมของชนพื้นเมืองและสภาพภูมิอากาศ
ชาววันกันและจากาลิงกูเป็นอะบอริจิน (ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย) จากตอนกลางของรัฐควีนส์แลนด์ พื้นที่ของพวกเขาเป็นส่วนที่แห้งแล้งและมีฝุ่นเต็มไปหมด ตั้งอยู่ห่างไกลจากเมือง แต่พวกเขาก็รู้ดีว่าแหล่งน้ำพุ Doongmabulla นั้นป้อนน้ำให้ไหลไปสู่แม่น้ำ Carmichael และ Belyando ที่อยู่ในพื้นที่
แหล่งน้ำพุนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพวกเขา “ที่นี่เป็นแหล่งน้ำแห่งเดียวในประเทศของเรา เป็นแหล่งน้ำนิรันดร์ที่มีชีวิตและให้ชีวิต” เอเดรียน เบอร์รากับบา (Adrian Burragubba) นักเคลื่อนไหวสิทธิที่ดินอะบอริจินชาววันกัน กล่าว “ฉะนั้นแล้วมันจำเป็นที่จะต้องมีการปกป้องสถานที่แห่งนี้ เพราะว่ามันคือฝัน คืออดีต ปัจจุบัน อนาคตของพวกเรา”
บริษัท-อดานีต้องการสร้างเหมืองถ่านหินคาร์ไมเคิลในดินแดนของวันกันและจากาลิงกู นี่คือโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดและมีข้อพิพาทมากที่สุดอีกโครงการหนึ่งของโลก ประเมินกันว่าจะสามารถส่งออกถ่านหิน 2.7 พันล้านตันได้ภายในระยะเวลา 67 ปี ซึ่งจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 4.7 พันล้านตัน
ในปี 2019 บริษัทอดานีฟ้องให้เบอร์รากับบาต้องเผชิญกับสถานะล้มละลาย ส่งผลให้โครงการต่อต้านเหมืองถ่านหินของเขาต้องกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้สู้เพียงลำพัง คนอื่นๆ ทั้งลูกของเขา พร้อมทั้งโคเอดี้ แม็กอะวอย (Coedie McAvoy) ก็ร่วมต่อต้านเหมืองถ่านหินนรกนี่ด้วยเช่นกัน แม็กอะวอยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Jacobin ว่า อดานีปฏิบัติต่อชาววันกันและจากาลิงกูอย่างไรในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และพวกเขาได้ทำการตอบโต้กลับไปอย่างไรบ้าง
ปกป้องผืนดิน
หากมีการเปิดเหมืองแห่งใหม่ของอดานีซึ่งเชื่อมกับลุ่มแม่น้ำกาลิลี ก็จะเกิดเหมืองใหม่ๆ ตามมาอีกในอนาคต เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นก็ทำให้เกิดแนวโน้มที่แนวปะการัง Great Barrier Reef จะฟอกขาว สถานีถ่านหินแห่งสุดท้ายของ Abbot Point ที่อดานีจะส่งออกถ่านหินไปนั้นตั้งอยู่ห่างจากแนวปะการังนี้แค่ชายฝั่งกั้นเท่านั้น หน่วยงาน IPCC เตือนว่า หากเราต้องการที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ต้องอยู่ใต้ดินต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ นักสิ่งแวดล้อมจึงต่อต้านเหมืองมาเป็นเวลาหลายปี
ผลกระทบจากเหมืองส่งผลโดยตรงกับผืนดินของชาววันกันและจากาลิงกู พวกเขาเห็นหลุมเปิดขนาดมหึมาว่าเป็น “ของเสื่อม” (desecration) ต่อผืนดิน เหมืองนี้ใช้น้ำปริมาณมหาศาลกว่า 12500 ล้านลิตรต่อปี ยังไม่นับว่ามันดูดอะไรออกมาจากหลุมอีก ระบบน้ำที่เปราะบางในพื้นที่และแหล่งน้ำพุ Doongmabulla จึงได้รับผลกระทบโดยตรง
แม็กอะวอยเล่าว่าชาววันกันและจากาลิงกูปฎิเสธการรุกคืบครั้งแรกๆ ของอดานี
อดานีได้เข้ามาทาบทามพวกเราครั้งแรกเมื่อปี 2012 เพื่อลงนามในข้อตกลงการใช้ประโยชน์ดินแดนชนพื้นเมือง (Indigenous Land Use Agreement (ILUA) พวกเราปฏิเสธข้อเสนอ พวกเขาจึงต้องกลับไปร่างแผนการนั้นมาใหม่ จนกระทั่งปี 2014 อดานีกลับมาและจัดแจงการประชุมเพื่อประสงค์ให้ข้อตกลงนั้นผ่าน แต่แน่นอนว่า พวกเราก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นกลับไปอีกครั้งอยู่ดี
ถึงอย่างนั้นอดานีก็ไม่ยอมลดละ แม็กอะวอยกล่าวว่า “หลังปี 2014 อดานีก็ใช้กลยุทธ์รุกคืบ คือการจ่ายเงินให้คนบางคนในกลุ่มของพวกเรา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อหวังให้ผลการโหวตข้อเสนอเป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับพวกเขา แน่นอนว่าทำให้กลุ่มก้อนของเราแตกแยกและเกิดการพิพาทภายใน”
ผลโหวตการประชุมเดือนเมษายน 2016 ให้เหมืองชนะขาดลอยด้วยเสียง 294 ต่อ 1 เสียง แต่ว่าความชอบธรรมของการประชุมครั้งนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบสิ้น สภาครอบครัววันกันและจากาลิงกูได้ต่อสู้ในศาลกว่าสามครั้งและพ่ายแพ้ไปในที่สุด
เมื่อทางเลือกในการต่อสู้บนชั้นศาลหมดหนทาง สภาครอบครัววันกันและจากาลิงกูยังคงโต้แย้งผลที่ออกมา เขาบอกว่าคนที่ออกเสียงโหวตในที่ประชุมไม่ใช่ชาววันกันและชาวจากาลิงกูด้วยซ้ำ พวกเขาถูกจ้างมาให้เต็มที่นั่งและโหวตสนับสนุนข้อเสนอของอดานี
หลายคนในที่ประชุมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นในที่ประชุมบ้าง เขาเห็นว่าผู้จัดประชุมได้เงินตามจำนวนคนที่พวกเขาไปหามาให้ออกเสียง แม็กอะวอยอธิบายว่าผู้จัดประชุมได้รับเงินตามจำนวนคนที่เขาหามาเข้าร่วมได้ และคนเหล่านั้นก็ได้รับคำสั่งว่าจะต้องโหวตอย่างไร การตัดสินใจในที่ประชุมไม่ได้เป็นไปตามฉันทานุมัติจากการรับรู้และบอกแจ้งล่วงหน้า
แม้ว่าครอบครัวของเขาจะเป็นครอบครัวที่ผู้คนมากหน้าหลายตารู้จัก อีกทั้งยังมีส่วนร่วมมากที่สุดในหมู่ชาววันกันและจากาลิงกู แต่พวกเขากลับไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น แม็กอะวอยพูดไว้ว่า “ผมไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ครอบครัวของผมจึงบอยคอตการประชุม และแน่นอนว่าพวกเราได้ฟาดฟันกับการประชุมลวงโลกนั่นนับแต่นั้นมา”
กรรมสิทธิ์ชนพื้นเมือง
สมาชิกชาววันกันและจากาลิงกูต้องเผชิญความทุกข์ยากจากการต่อสู้ผ่านสื่อและในศาลกับบริษัทอดานีเป็นเวลาหลายปี พ่อของแม็กอะวอยก็คือผู้ต่อต้านเหมืองคนหนึ่งที่คนรู้จักกันดี เขาเล่าว่า
นับเป็นเวลาหกปีแล้วที่ครอบครัวเราร้อนรุ่มใจอย่างมากกับเรื่องนี้ พ่อโดนมุ่งเป้าจากหน้าสื่อหลายครั้ง ในสามปีที่เขาต่อสู้กับอดานี เขาได้เสียพี่น้องถึงสองคนพร้อมๆ กับการเสียลูกชายไปอีกหนึ่งคน สิ่งเหล่านี้ทำเอาพวกเราเสียหลักและสาหัสเอาการ นั่นคือสิ่งที่ทำให้พ่อต้องถอยกลับไปตั้งหลักและฟื้นฟูตัวเองอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ที่เรายังมีกำลังใจสู้ต่อ เพราะพวกเราเข้มแข็ง และยังเชื่อมั่นในความยุติธรรมกับความถูกต้อง
ในขณะเดียวกัน ความแตกแยกภายในพื้นที่ของวันกันและจากาลิงกูเองก็เห็นได้ทั่วไปภายใต้กฎหมายข้อพิพาทของชนพื้นเมือง กฎหมายนี้ให้สิทธิอันจำกัดต่อชนพื้นเมืองในเรื่องที่ดิน พวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้ภาระหนักหน่วงของการพิสูจน์หลักฐานและกระบวนการกฎหมายที่มักไม่เสร็จสิ้นเสียที แม้ผู้ยื่นเรื่องซึ่งเป็นเจ้าของเดิมจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แม็กอะวอยบอกว่า
ระบบกรรมสิทธิ์ชนพื้นเมืองก็ทำในสิ่งที่มันควรทำ มันถูกออกแบบมาเพื่อแบ่งแยกและเอาชนะ (divide and conquer) เพื่อดึงผู้คนออกจากการต่อต้านเหมือง แบ่งแยกพวกเขา และเชิดชูเจ้าของเดิมที่ยอมจำนน มันถูกออกแบบมาเพื่อบริษัทเหมือง ไม่ใช่ชาวอะบอริจิน แม้ในยามที่คุณมีกรรมสิทธิ์ชนพื้นเมือง คุณก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี สิทธิ์ที่คุณมีก็ได้แค่ตั้งแคมป์และออกล่าในพื้นที่ของคุณโดยได้รับอนุญาตจากพวกชนบทนิยม (patoralist)
การต่อสู้เรื่องเหมืองคาร์ไมเคิลของอดานีเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินอันเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในออสเตรเลียเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 20 ปีแล้วที่ชาววันกันและจากาลิงกูได้รับกรรมสิทธิ์ชนพื้นเมือง ปัญหานี้ก็ยังไม่ถูกแก้ไข การที่อดานีเสนอให้สร้างเหมืองก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหานี้เช่นกัน
รัฐบาลพยายามเข้าแทรกแซงประเด็นนี้หลายครั้ง เดือนพฤษภาคม ปี 2017 อธิบดีกรมอัยการ จอร์จ แบรนดีส์ (George Brandis) ภายใต้การสนับสนุนของพรรคแรงงาน ทำการปรับแก้ พรบ. กรรมสิทธิ์ชนพื้นเมือง (Native Title Act) หลังศาลสหพันธรัฐยกเลิกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียตะวันตกและเจ้าของเดิม ในฐานที่ตัวแทนทุกคนของกลุ่มหรือเผ่าชนพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องไม่ได้ลงนาม
เหล่าแนวร่วมมองว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเบิกทางให้ชาววันกันและจากาลิงกูสามารถฟ้องร้องต่อต้านข้อตกลง ILUA ของอดานี เนื่องจากแบรนดีส์ช่วยบุกเบิกการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บริษัทเหมืองและบริษัทอื่นๆ สามารถสร้างข้อตกลง ILUA ได้ง่ายขึ้นด้วยเสียงโหวตส่วนใหญ่ ซึ่งกีดกันผู้แทนชนพื้นเมืองที่ไม่เห็นด้วยออกไป อีกทั้งแบรนดีส์ยังสนับสนุนให้ผู้พิพากษาเลื่อนการพิจารณาคดีของชาววันกันและจากาลิงกูที่มีต่ออดานีออกไป จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนข้อกฎหมายได้
หลังจากนั้น รัฐบาลควีนส์แลนด์ได้เพิกถอนสถานะชนพื้นเมืองของวันกันและจากาลิงกูเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 ในพื้นที่ที่ให้อดานีเช่า ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ระบบกรรมสิทธิ์ชนพื้นเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อน
“ยืนหยัดบนผืนดินของเรา”
ปี 2019 ชาววันกันและจากาลิงกูพ่ายแพ้การร้องอุทธรณ์ครั้งที่สามต่อศาลสหพันธรัฐ อดานีจึงเริ่มกระบวนการขอให้เบอร์รากับบาล้มละลาย แต่แม็กอะวอยก็ยืนกรานว่าผลกระทบทางข้อกฎหมายไม่มีทางทำให้ครอบครัวเขาเปลี่ยนทิศทางการต่อต้านอดานี:
ชาววันกันและจากาลิงกูไม่ได้ต่อต้านผ่านการขึ้นศาลเท่านั้น ศาลเป็นระบบตะวันตกที่ไม่เคยคำนึงถึงวัฒนธรรมและกฎของพวกเรา… ศาลเต็มไปด้วยกลโกงเพราะนักการเมืองสามารถเบี่ยงเบนคำตัดสินของผู้พิพากษาอย่างไรก็ได้
สมาชิกสภาครอบครัวหลายคนออกเดินทางรอบโลกในปี 2015 เพื่อพบปะกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่และพยายามเปลี่ยนใจพวกเขาไม่ให้สนับสนุนโครงการที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ การกดดันครั้งนี้ผนวกกับการประเมินความผันผวนทางเศรษฐกิจของเหมืองทำให้อดานีไม่สามารถค้ำจุนเหมืองคาร์ไมเคิลไว้ได้
อย่างไรก็ดี อดานีก็ยังเดินหน้าทำเหมืองต่อด้วยทุนตัวเอง ลดขนาดโครงการลง ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านจึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในเมื่อยังมีใบอนุญาตทำเหมืองและการก่อสร้างกำลังดำเนินการอยู่
เดือนกันยายนปี 2019 แม็กอะวอยตั้งแคมป์ในที่ที่อดานีเช่าไว้เพื่อเตรียมตัวเต้นระบำ corroboree อดานีถือครองที่ดินในฐานะที่ดินเช่าเพื่อการปศุสัตว์ ซึ่งในกฎหมายออสเตรเลียหมายความว่าต้องแบ่งปันพื้นที่นี้ให้กับผู้ทำมาหากินและผู้ถือสถานะชนพื้นเมืองคนอื่นๆ
การตั้งแคมป์สองครั้งแรกของแม็กอะวอยนั้นเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ และโดดเดี่ยว แต่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เขาก็กลับมาพร้อมกลุ่มเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งเป็นชาววันกันและจากาลิงกู รวมถึงชาวอะบอริจินคนอื่นและผู้สนับสนุน เพื่อขวางทางคนงานของอดานีตรงถนนแคบๆ ที่เป็นทางเดินปศุสัตว์ และจุดไฟพิธีกรรมขึ้น กว่าสี่วันที่พวกเขาอยู่ที่นั่นตรงทางเดินของวัวควาย เพื่อปิดทางไปทำงานของคนงานอดานี การปิดถนนนี้ไม่ง่าย แม็กอะวอยเล่าว่า
มันก็มีวิธีปิดถนนหลายวิธีแต่ผมตั้งใจสุมไฟเพื่อเป็นสัญสักษณ์ของจิตวิญญาณ ความแข็งแกร่ง และอำนาจ ไฟที่ลุกโชติช่วงและมีความหมายก็ทำให้ตำรวจทำงานยากขึ้น
“ยืนหยัดในผืนดินของเรา” คือชื่อที่ชาววันกันและจากาลินกูใช้เพื่อการรณรงค์ระลอกใหม่ของพวกเขา สะท้อนทั้งการต่อสู้ขัดขืนของการตั้งแคมป์และสายใยกับผืนดินใต้เท้าของพวกเขา นี่เองคือจุดที่วัฒนธรรมและการประท้วงหลอมรวมเข้าด้วยกัน มันคือสายใยที่มีต่อผืนดินของพวกเขาซึ่งเชื่อมโยงกับสถานที่ที่พวกเขาปกป้อง
ระหว่างการปิดถนน ตำรวจพยายามจะเจรจาในบทสนทนาข้างกองไฟ แต่กลุ่มวันกันและจากาลิงกูก็บอกว่าพวกเขาจะอยู่จนกว่าอดานีจะออกไป เช้าวันที่ห้าหลังตั้งแคมป์ ตำรวจควีนส์แลนด์กว่าสี่สิบนายก็เข้าล้อมเพื่อขับไล่ กวาดพวกเขาออกจากไฟศักดิ์สิทธิ์และเปิดถนนอีกครั้ง
การต่อต้านอันเด็ดเดี่ยว
แม็กอะวอยและกลุ่มอะบอริจินอื่นๆ ใช้เวลาหกเดือนที่ผ่านมาตั้งแคมป์ในพื้นที่ที่อดานีเช่าไว้ โดยมีจุดประสงค์สองอย่าง หนึ่งคือเพื่อขัดขวางการทำงานของอดานีและสองเพื่อทำตามวัฒนธรรมที่พวกเขาพยายามปกป้อง “เราคิดว่ายิ่งอยู่ที่นี่นานเท่าไร เราก็ยิ่งเชื่อมต่อกับที่นี่มากขึ้นเท่านั้น ทั้งสัตว์ นก และต้นไม้” เขาบอก “มันเป็นแรงขับให้ผมสู้กับบริษัทเหมืองนี้ต่อไป”
การต่อสู้ครั้งนี้สำหรับชาววันกันและจากาลิงกูกินระยะเวลาที่ยาวนานและยากลำบาก พวกเขาร่วมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับขบวนการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของนักสิ่งแวดล้อม ถึงกระนั้นก็ยังมีชัยชนะเล็กๆ ที่สำคัญเกิดขึ้น สถาบันการเงินที่ตัวแทนกลุ่มไปพูดคุยด้วยได้ปฏิเสธการทำงานร่วมกับอดานี เช่นเดียวกับบริษัทอื่นอีกร้อยแห่ง อดานีต้องเลื่อนการดำเนินการเหมืองและลดขนาดลง ในปัจจุบันโครงการนี้เป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวที่บริษัทได้เคยเสนอมา
สำหรับอดานี เหมืองคาร์ไมเคิลไม่ใช่แค่เรื่องถ่านหินเท่านั้น บริษัทนี้เคยก่อตั้งและมีฐานอยู่ที่อินเดียอีกทั้งยังสนใจเรื่องการขนส่ง โครงการคาร์ไมเคิลแสดงถึงการเติบโตในต่างประเทศและการดำเนินการครบวงจรตั้งแต่เหมืองจนถึงท่าเรือ ซึ่งบริษัทหวังผลกำไรมหาศาลจากตรงนั้น
ผู้สนับสนุนสำคัญของอดานีในออสเตรเลียคือพรรคควีนส์แลนด์ พวกนี้มีแรงจูงใจอย่างแน่วแน่ที่จะสนับสนุนเหมือง แม้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะน้อย แต่สำหรับพวกเขาแล้วนี่เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพวก “สายธรรมชาติ” พลังงานเขียว และภาคบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งยังเป็นชัยชนะของพวก “ชนชาติแรก” (First Nations) ด้วย
แต่การต่อสู้ของชาววันกันและจากาลิงกูยังคงดำเนินต่อไป เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม็กอะวอยตั้งใจพาคนทั่วออสเตรเลียมายังผืนดินของเขา เขาช่วยวางแผน “ทัวร์คาร์ไมเคิล” ทริปปั่นจักรยานจากทางหลวงเกรกอรีไปยังเหมืองของอดานี “เป้าหมายก็คือสร้างอีเวนต์ปั่นจักรยานขนาดใหญ่และให้เจ้าของที่ดินเดิมนำทัวร์เชิงวัฒนธรรม ใครก็ตามที่ไม่ชอบเหมืองทำลายล้างของอดานีก็เข้าร่วมได้”
นอกจากนี้แม็กอะวอยก็มองโลกในแง่ดี และมีความมุ่งมั่น “ผมมองว่าเราแข็งแกร่งและสามารถหยัดยืนได้นานกว่าอดานี” การต่อสู้ของเขา ของชาววันกันและจากาลิงกูได้ย้ำเตือนให้เราเห็นว่าต้องไปไกลแค่ไหนเพื่อความยุติธรรมต่อชนพื้นเมืองและสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงสายใยอันลึกซึ้งระหว่างปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และอธิปไตยของอะบอริจิน ซึ่งทั้งคู่ต่างก็สู้กับอุตสาหกรรมเหมืองในฐานะที่มันเป็นศัตรูหลักเช่นกัน
ภาวะเสื่อมถอยของสภาพภูมิอากาศเริ่มเป็นจริงชัดเจนขึ้นทุกที การรณรงค์ต่อต้านอย่างที่เกิดขึ้นกับอดานีจึงสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เพื่อหยุดโครงการทำลายล้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเพื่อฟื้นคืนธรรมเนียม ความรู้ วิถีปฏิบัติของชนพื้นเมืองที่สำคัญต่อการอยู่รอดของทุกชีวิต นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม นักรณรงค์อธิปไตยชนพื้นเมือง ผู้สนับสนุน ชาววันกันและจากาลิงกูคือสัญลักษณ์ของความเด็ดเดี่ยวสร้างสรรค์ที่เราต้องการเพื่อชัยชนะ