ผู้เขียนและภาพประกอบ Karuna Tilapaynat
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
ผบ.ตร.: “ที่บ้านไม่มีรถไฟฟ้าใช่ไหม…พาลูกน้องมาดูรถไฟฟ้าชอบไหม?”
เจ้าหน้าที่: “ชอบครับ”
ผบ.ตร.: “คราวหน้ามาอีกไหม?”
เจ้าหน้าที่: “นายสั่งก็มาครับ”
บทสนทนาที่แฝงด้วยอารมณ์ขัน + ดูถูกดูแคลนของ ผบ.ตร ยศพลตำรวจเอก กับ ตำรวจจากต่างจังหวัด หลังจากการสลายชุมนุมของคณะราษฎรบริเวณแยกปทุมวัน การกระทำนี้สวนทางกับอารมณ์โกรธแค้นของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรและผู้ติดตามข่าว นำไปสู่มุขตลกขบขันที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในโลกอินเตอร์เน็ต “ที่บ้านไม่มีรถไฟฟ้า”
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างจากหลายๆ เหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้ อันเป็นผลพวงจากการเป็นรัฐรวมศูนย์มากเกินไปทั้งในเรื่องของการรวมศูนย์ทางอำนาจและเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าจะให้เขียนว่ามันส่งผลให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง บทความนี้ก็คงยาวเกินไปจนอ่านสามวันสามคืนก็คงไม่จบ อยากให้ท่านลองมาคิดกันเล่นๆ ว่ามันทำให้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง????
เมื่อการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองหลวงมากเกินไปจนเกิดความรู้สึกว่าการเป็นรัฐแบบนี้มันมีปัญหาในตัวเอง แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้นได้บ้างนะ? จะย้ายเมืองหลวงหรอ??? แต่การย้ายเมืองหลวงไปที่อื่นเช่นนั้นมันก็เป็นการสร้างศูนย์รวมอำนาจแห่งใหม่ขึ้นมาแทนน่ะสิ!!! เราเคยลองถามคำถามกับเพื่อนคนหนึ่งว่า
“นี่ๆ มีข่าวกรุงเทพจะจมน้ำในอนาคตอันใกล้?? ถ้าต้องย้ายเมืองหลวงอยากให้เมืองหลวงไปอยู่ตรงไหน?”
“อยากให้ทุกๆ ที่เป็นเมืองหลวงเลยจะได้ไหมอะ?”
คำตอบของเราอาจจะดูเหมือนเพ้อฝัน ดูเป็นไปไม่ได้ ดูเป็นโลกในอุดมคติ ยูโทเปีย สวนทางกับระบบการปกครองของโลกที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่เรากลับรู้สึกว่ามันน่าสนใจมาก เพราะอดีตโลกเรานั้นก็เคยผ่านจุดที่ไม่มีประเทศ ไม่มีรัฐ ไม่มีเมืองหลวง
การจินตนาการถึงระบบการปกครองแบบรัฐที่ไม่มีเมืองหลวงอาจดูเป็นไปไม่ได้ในโลกความเป็นจริง แต่หลายประเทศมีลักษณะของความเป็น Capitalless Country ไม่ว่าจะประเทศที่มีขนาดเล็กหลายๆ ประเทศที่มีเมืองเดียวในลักษณะ City-states เช่น Singapore, Vatican, Monaco หรือประเทศที่มีลักษณะ Countries with no cities ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยมาก อย่างเช่น Nauru, Tavalu แม้ประเทศตัวอย่างที่ยกมานั้นมีลักษณะพิเศษในตัวมันเองทั้งขนาดหรือจำนวนประชากร แต่ก็ยังมีอีกประเทศหนึ่งนั้นก็คือ Switzerland ที่มีขนาดและประชากรเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ แต่ Switzerland กลับไม่มีเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ
“ยกเลิกเมืองหลวง” อาจจะฟังดูแล้วไม่รู้ว่ามันคืออะไร? ยกเลิกไปทำไม? เพื่ออะไร? ต้องการอะไร? เอาจริงๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะนำไปสู่จุดไหน แต่เราก็พยายามทดลองแตะขอบเขตของความสามัญ ความปกติ ความเป็นไปได้ต่างๆ เพื่อให้เกิดการพูดคุยถึงทั้งสิ่งที่เป็นปัญหา และไม่เป็นปัญหาในภาวะที่สังคมกำลังมีแรงผลักดันที่นำไปสู่สิ่งต่างๆ ………
“การที่คนจะเท่ากัน เมืองก็ควรจะมีฐานะเท่ากันด้วย”
ร่วมพูดคุย
ผู้เขียน Pathompong Kwangtong
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
วันนี้ผู้เขียนบทความจากทางบ้านส่งบทความขนาดสั้นมาเพื่อต้องการสนทนาแลกเปลี่ยนกับทีมงานและมิตรสหายผู้อ่านทั้งหลาย บทความนี้ผู้เขียนบอกเองว่าไม่ได้ให้คำตอบใดๆ อย่างชัดเจนถึงคำถามที่เขาได้ตั้งไว้ในตอนท้าย กระนั้นผมกลับคิดว่าตัวบทความเองได้ตอบคำถามเหล่านั้นไปแล้วบางส่วน
ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยบทสนทนาอันเป็นที่ฮือฮาในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองบนท้องถนนในปี 2020 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป แล้วต่อด้วยการเสนอเป็นนัยว่าบทสนทนานี้ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของราชอาณาจักรไทยอันเป็นที่รักยิ่งของชนชั้นปกครองทั้งหลาย จากนั้นจึงพูดถึงข้อเสนอเรื่องการยกเลิกเมืองหลวงแล้วพาไปตระเวนตามประเทศขนาดเล็กต่างๆ จนมาจบที่สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศเล็กๆ ในยุโรปซึ่งไม่มีเมืองหลวง สุดท้ายก็โยนหินถามทางมายังผู้อ่านทุกท่านให้ช่วยกันขบคิดเรื่องนี้ต่อถึงความเป็นไปได้ของข้อเสนอนี้
หากทุกท่านติดตามแฟนเพจเฟสบุ๊คของเราอยู่ก็น่าจะพบโพสต์ที่เราลงรูปป้ายประกาศขนาดใหญ่อันปรากฏข้อความว่า ‘ยกเลิกเมืองหลวง’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ใหม่ขนาดที่ว่าตำรวจก็คงไม่รู้จะหาหนทางจัดการอย่างไร ไม่เหมือนครั้งที่พูดถึงสหพันธรัฐไทที่อำนาจรัฐไทยมิอาจยอมให้ตั้งคำถามกับรูปแบบของรัฐได้แม้แต่น้อย สิ่งที่ขบวนการในครั้งนี้แตกต่างออกไป คงเป็นเพราะการยกเลิกเมืองหลวง เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคิดถึง และผลกระทบที่ตามมาจะเป็นเช่นไร การยกเลิกเมืองหลวงมีส่วนคล้ายกับการพูดเรื่องสังคมคอมมิวนิสม์ไม่มากก็น้อย มากตรงที่ดูเป็นไปไม่ได้ น้อยตรงที่อย่างหลังมันล้มเหลวไม่เป็นท่ามาแล้วในศตวรรษที่ 20 ส่วนอย่างแรกนั้นแทบไม่มีใครเขากล่าวถึงกันมาก่อน อย่างน้อยก็ในประเทศไทยที่แสนสวยงามของเรา
การพูดถึงสหพันธรัฐไทเป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองที่เสวยสุขอยู่ในระบบรัฐเดี่ยวรวมศูนย์มิอาจทานทนได้ เพราะมันไปท้าท้ายความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจส่วนกลางซึ่งเริ่มสถาปนามาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยระบอบเก่าของไทยจนกระทั่งทำให้เข้มแข็งเป็นปึกแผ่นได้ค่อนข้างสมบูรณ์ด้วยสงครามต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ สหพันธรัฐเองเป็นรูปแบบการปกครองที่มีใช้กันโดยทั่วไป ชนชั้นปกครองจึงคาดการณ์วิถีปฏิบัติและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้เซลล์สมองมากมายนัก ก่อเกิดเป็นความกลัว กังวล และต้องจัดการอย่างรวดเร็วตามมา
ทว่าการยกเลิกเมืองหลวงนั้นต่างออกไป การยกเลิกเมืองหลวงไม่ใช่ปรากฏการณ์ ข้อเรียกร้อง หรือขบวนการกระแสหลัก ไม่เหมือนการเปลี่ยนรูปรัฐ ไม่เหมือนการแบ่งแยกดินแดน การเรียกร้องให้ยกเลิกเมืองหลวงเป็นเสมือนการตั้งคำถามไปจนสุดทางถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองขนาดใหญ่มากกว่าเป็นโครงการทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ เมื่อพิจารณาเช่นนี้จึงไม่แปลกใจในน้ำเสียงของผู้เขียนที่ไม่ได้แสดงลักษณะปลุกเร้า หรือมั่นใจในข้อเสนอของตนเพื่อต่อยอดทางการเมืองอย่างทันทีทันใด การยกเลิกเมืองหลวงจะมองว่าเพ้อฝัน หรือกระทั่งประนีประนอมก็ได้ ทุกอย่างดูเหมือนการพูดลอยๆ ขึ้นในวงร่ำสุรา
อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ผู้เขียนเสนอเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แต่อย่างใด กลับกัน สำหรับผมซึ่งชื่นชอบรูปแบบการอยู่ร่วมกันในสังคมโรจาวานั้นคิดว่ามันเป็นข้อเสนอที่เข้าท่าเลยทีเดียว เพียงแต่มันคงเป็นเหมือนโครงร่างแกนกระดูกของความคิดที่รอคอยให้เราใส่อวัยวะและเนื้อหนังเข้าไป มันสามารถเป็นโครงการในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมแบบอื่นๆ ได้ มันอาจเป็นโครงการทางการเมืองเพื่อการปลดปล่อยอย่างละมุนละม่อม ลดความบอบช้ำจากอำนาจรัฐรวมศูนย์ลงได้บ้าง และเป็นช่องทางการพูดถึงสังคมรูปแบบใหม่ๆ ที่รัฐมิอาจนำอำนาจเถื่อนมาปิดปากเราได้โดยง่าย
สุดท้าย เมื่อผู้เขียนเชิญชวนเช่นนั้นแล้ว ผมจึงอยากช่วยชวนผู้อ่านร่วมพูดคุยด้วยอีกแรง ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เรามาช่วยกันขบคิด แชร์ต่อ คอมเมนต์ในเว็บไซต์ของเรา พูดถึงตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หรือกระทั่งพูดคุยกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย เพื่อแสดงพลังประชาธิปไตยออกมาให้ชนชั้นนำรู้ว่าอำนาจของประชาชนนั้นน่ากลัวเกินกว่าที่พวกท่านจะสูบเลือดเนื้อแรงงานประชาชนทั่วมหาราชอาณาจักรสยามแห่งนี้ไปใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้าใกล้บ้านท่านเพียงอย่างเดียว