อะไรคือสิ่งที่ทุกคนต้องการที่สุดในชีวิต? คุณต้องการอะไรมากที่สุด?
อย่าลืมว่าเราทุกคนล้วนเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ชายหรือหญิง รวยหรือจน สูงศักดิ์หรือต่ำต้อย ผิวขาว เหลือง แดง หรือดำ ไม่ว่าจะอยู่แดนดินแห่งใด เชื้อชาติไหน และศาสนาอะไร เราก็ล้วนแต่รับรู้ถึงความหนาวเหน็บและความหิวโหย ความรักและความเกลียดชัง เราหวาดกลัวเหล่ามหันตภัย โรคระบาด และหลีกลี้จากภัยอันตรายและความตาย
สิ่งที่คุณอยากหลีกหนีออกไปมากที่สุด สิ่งที่คุณกลัวมากที่สุด ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ของคุณคิดแบบเดียวกัน
เหล่าผู้มีการศึกษาได้เขียนหนังสือเล่มโตออกมาหลายเล่มเกี่ยวกับสังคมวิทยา จิตวิทยา และ “-วิทยา” อื่นๆ อีกมาก เพื่อที่จะบอกว่าพวกคุณต้องการสิ่งใด แต่หนังสือเหล่านั้นไม่ได้มีข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันใดๆ เลย และผมคิดว่าต่อให้พวกเขาไม่บอก คุณก็ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องการอะไร
พวกเขาศึกษาและเขียนและคาดเดาไว้ต่างๆ นานาเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำหรับพวกเขามันคงเป็นโจทย์ที่ยากเย็น จนพวกคุณในฐานะปัจเจกจึงสูญหายไปสิ้นในปรัชญาของพวกเขา และในท้ายที่สุดพวกเขาก็มาพร้อมกับข้อสรุปที่ว่า พวกคุณ, สหายของผม พวกคุณไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่สำคัญไม่ใช่พวกคุณในฐานะปัจเจก แต่เป็น “มวลรวม” (the whole) ที่รวมคนทุกคนเอาไว้ด้วยกัน และการรวมกันแบบนี้ก็เรียกว่า “สังคม” “ประชาชาติ” หรือ “รัฐ” แล้วพวกอวดฉลาดทั้งหลายก็จะบอกว่า ตราบใดที่สังคมยังคงสงบเรียบร้อยดี มันก็คงไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งในฐานะปัจเจกต้องเผชิญกับความทุกข์ยาก แต่ไม่แน่ว่าเขาอาจจะลืมอธิบายว่าสังคมจะสงบเรียบร้อยได้อย่างไร ถ้ายังมีใครสักคนกำลังฉิบหาย ยากจนข้นแค้น และตกระกำลำบาก
ดังนั้นพวกเขาจึงชักใยแห่งปรัชญาของพวกเขาต่อไป และเขียนหนังสือเล่มหนาออกมาเพื่อที่จะหาคำตอบว่าพวกคุณก้าวเข้ามาสู่แบบแผนที่เรียกว่าชีวิตได้อย่างไร แล้วพวกคุณต้องการสิ่งใดกันแน่
แต่คุณก็รู้ดีอยู่แล้วนี่ ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ เช่นเดียวกันกับเพื่อนๆ ของคุณ
คุณอยากมีชีวิตและสุขภาพที่ดี คุณอยากเป็นอิสระ คุณไม่ต้องการหมอบคลานและลดคุณค่าของตัวเองต่อหน้าใครทั้งสิ้น คุณอยากให้ตัวคุณเอง ครอบครัวของคุณ รวมทั้งคนที่คุณรักมีความเป็นอยู่ที่ดี และไม่ต้องเผชิญกับอันตราย รวมถึงต้องวิตกกังวลกับสิ่งที่ไม่แน่นอนในอนาคต
คุณคงจะรู้สึกมั่นใจว่าทุกๆ คนก็ต้องการสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นสาระทั้งหมดมันก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ
คุณต้องการความเป็นอยู่ที่ดี และอิสระภาพ ซึ่งทุกคนก็เหมือนกับคุณในแง่นี้
ชีวิตของพวกเราจึงแสวงหาสิ่งๆ เดียวกัน
แล้วทำไมเราถึงไม่รวมมือกันแสวงหาด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลกันล่ะ?
ถ้าเราแสวงหาสิ่งเดียวกัน แล้วทำไมเราถึงคดโกง ปล้นชิง ฆ่าแกงกันเอง? คุณไม่มีสิทธิ์ในสิ่งที่คุณต้องการเทียบเท่ากับคนอื่นๆ หรอกหรือ?
หรือเพราะว่าการต่อสู้ห่ำหั่นกันเองเป็นหนทางที่เราจะได้มาซึ่งความเสรี และความเป็นอยู่ที่ดี?
หรือเพราะว่ามันไม่มีหนทางอื่นอีกแล้ว?
เราลองมาคิดถึงประเด็นนี้กันดีกว่า
ถ้าเราต้องการสิ่งเดียวกัน ถ้าเรามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นแปลว่าผลประโยชน์ของเราก็ต้องเหมือนกันด้วยไม่ใช่หรือ? ถ้าเป็นแบบนี้เราก็ควรจะอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หยิบยื่นมิตรภาพให้แก่กัน เราควรปฏิบัติดีต่อกัน และช่วยเหลือกันเท่าที่เราจะทำได้
แต่คุณก็รู้ว่าชีวิตมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย คุณก็รู้ว่าโลกนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันและสงคราม เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและสิ่งผิด เต็มไปด้วยอาชญากรรม เต็มไปด้วยความยากจน และเต็มไปด้วยการกดขี่
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ?
นั่นเป็นเพราะถึงแม้ว่าเราจะมีเป้าหมายในชีวิตเหมือนกัน แต่ผลประโยชน์ของเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน นี่คือสาเหตุที่นำปัญหาทั้งมวลมาสู่โลกใบนี้
คุณลองคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตัวคุณเองก็แล้วกัน
สมมติว่าคุณอยากได้รองเท้าสักคู่หรือหมวกสักใบ คุณไปที่ร้านขายรองเท้า (หรือหมวก) และพยายามหารองเท้าที่คุณต้องการ โดยเป็นคู่ที่ถูกที่สุดแล้วก็มีคุณภาพเหมาะสมที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ นี่คือผลประโยชน์ของคุณ แต่ผลประโยชน์ของเจ้าของร้านก็คือการขายสินค้าให้แพงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเขาจะได้กำไรเพิ่มมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าเราใช้ชีวิตอยู่ด้วยการทำกำไรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรามีชีวิตอยู่ในระบบของการทำกำไร
ตอนนี้คงจะเห็นแล้วว่าถ้าเราต้องทำกำไรต่อกันและกัน ผลประโยชน์ของเราจะไม่มีทางเหมือนกันได้ หรือบางครั้งมันอาจจะเป็นปฏิปักษ์กันด้วยซ้ำ
ในทุกๆ ประเทศคุณจะพบเจอผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการแสวงหากำไรจากผู้อื่น คนที่ทำกำไรได้มากก็ย่อมร่ำรวย ส่วนคนที่ทำกำไรไม่ได้เลยก็จะยากจน มีเพียงคนกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ไม่สามารถแสวงหากำไรได้เลยก็คือเหล่าคนงาน คุณจะเข้าใจได้ทันทีเลยว่าทำไมผลประโยชน์ของเหล่าคนงานจึงไม่มีทางเหมือนกับคนกลุ่มอื่นๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมในทุกๆ ประเทศ ผลประโยชน์ของคนในชนชั้นต่างๆ จึงไม่เหมือนกันเลย
ในทุกๆ ที่คุณจะพบ
- คนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำกำไรได้สูงและร่ำรวยมาก อย่างเช่นนายธนาคาร ผู้ทำการผลิตขนาดใหญ่ และเจ้าของที่ดิน คนพวกนี้มีทุนมากและถูกเรียกว่าพวกนายทุน พวกเขาอยู่ในชนชั้นนายทุน
- ชนชั้นที่ร่ำรวยน้อยลงมานิดหน่อย ได้แก่พวกนักธุรกิจ นายหน้าค้าที่ดิน นักวิเคราะห์ และคนที่ใช้ทักษะชั้นสูงอย่างเช่น แพทย์ นักประดิษฐ์ และอื่นๆ นี่คือชนชั้นกลาง หรือพวกกระฎุมพี
- คนงานจำนวนมากที่ถูกว่าจ้างอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในโรงตัดไม้และเหมือง ในโรงงานและร้านค้า ในการขนส่ง และบนที่ดินต่างๆ นี่คือชนชั้นแรงงาน เรียกอีกอย่างว่ากรรมาชีพ
พวกกระฎุมพีกับพวกนายทุนนั้นถูกจัดอยู่ในชนชั้นนายทุนเหมือนกัน เพราะว่าผลประโยชน์ของพวกเขาไม่แตกต่างกันมากนัก และโดยทั่วไปแล้วพวกกระฎุมพี่ก็มักจะเข้าข้างพวกนายทุนซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับพวกชนชั้นแรงงาน
คุณจะเห็นได้ว่าชนชั้นแรงงานเป็นชนชั้นที่จนที่สุดในทุกๆ ประเทศ บางทีคุณอาจจะอยู่ในกลุ่มคนพวกนี้ด้วย แล้วคุณก็จะรู้ว่าตัวเองไม่มีทางร่ำรวยด้วยค่าแรงที่คุณได้รับเลย
ทำไมพวกแรงงานถึงเป็นชนชั้นที่ยากจนที่สุด? แน่นอนล่ะว่าพวกเขาใช้แรงงานมากกว่าชนชั้นอื่นๆ และทำงานหนักกว่าด้วย หรือเป็นเพราะว่าพวกแรงงานไม่ได้สำคัญที่สุดในสังคม? หรือว่าบางทีเราก็อยู่ได้โดยไม่ต้องมีพวกเขา?
ลองคิดกันดูสิ เราต้องการอะไรในการดำรงชีวิต? เราต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่พักอาศัย เราต้องการโรงเรียนสำหรับลูกหลานของเรา รถยนต์และรถไฟสำหรับการเดินทาง และอย่างอื่นอีกนับร้อยนับพัน
คุณสามารถมองไปรอบๆ ตัวคุณแล้วชี้อะไรมาสักอย่างที่ผลิตขึ้นมาโดยปราศจากแรงงานได้หรือเปล่า? ทำไมล่ะ แค่รองเท้าที่คุณสวมใส่ และถนนที่คุณใช้เดิน ก็ล้วนแต่เป็นผลมาจากแรงงานทั้งสิ้น ถ้าปราศจากแรงงานแล้วล่ะก็ โลกของเราก็จะไม่ใช่อะไรเลยนอกจากโลกอันเปลือยเปล่า และชีวิตของมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง
ดังนั้น หมายความว่ากำลังแรงงานได้สร้างทุกๆ สิ่งที่เรามี ความมั่งคั้งทั้งมวลของโลกใบนี้ มันคือผลผลิตของกำลังแรงงานที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนโลกและทรัพยากรธรรมชาติของมัน
แต่ถ้าความมั่งคั่งทั้งหมดล้วนมาจากกำลังแรงงาน แล้วทำไมมันถึงไม่เป็นของเหล่าคนงานล่ะ? ทำไมมันถึงไม่ได้เป็นของคนใช้สองมือและสมองของพวกเขาในการสร้างสิ่งเหล่านี้
ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าคนแต่ละคนย่อมมีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของในสิ่งที่พวกเขาทำขึ้นมา
แต่ไม่มีใครหรอกที่ทำหรือสามารถทำอะไรก็ตามขึ้นมาได้ด้วยตัวเขาเองเพียงคนเดียว การผลิตนั้นใช้คนมากมาย ที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไปเพื่อที่จะสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา อย่างเช่นช่างไม้ไม่สามารถสร้างเก้าอี้ขึ้นมาได้ด้วยตัวของเขาเพียงคนเดียว ต่อให้เขาจะตัดไม้ด้วยตัวเองก็ตาม เพราะเขาต้องใช้เลื่อยและค้อน ตะปูและเครื่องมือต่างๆ ซึ่งเขาไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเองได้ หรือต่อให้เขาทำได้เอง เขาก็ต้องมีวัตถุดิบก่อน อย่างเช่นเหล็ก ซึ่งต้องให้คนอื่นหามาให้อยู่ดี
หรือลองดูตัวอย่างเพิ่มเติม เราลองมาพูดถึงวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เขาไม่สามารถทำอะไรได้เลยถ้าหากไม่มีกระดาษและดินสอ รวมไปถึงเครื่องมือวัดต่างๆ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ต้องมีคนผลิตมาให้เขา ไม่ต้องพูดไปถึงการที่เขาต้องเรียนรู้วิชาและศึกษาเป็นเวลาหลายปี โดยที่เขาไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลยในช่วงนั้น และนี่คือตัวอย่างที่ใช้ได้กับมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้
คุณจะเห็นได้ว่าไม่มีใครที่สามารถดำรงชีวิตอยู่เพียงลำพังด้วยการผลิตสิ่งที่เข้าต้องการขึ้นมาเองทั้งหมด ในช่วงแรกๆ มนุษย์ยุคบุพกาลที่อาศัยอยู่ในถ้ำก็อาจจะกะเทาะหินมาทำเป็นขวาน หรือสร้างธนูกับลูกศรมาใช้เอง และดำรงชีวิตในรูปแบบนั้น แต่วันเวลาเหล่านั้นมันผ่านพ้นไปแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนในปัจจุบันที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผลลิตของเขาเองคนเดียว พวกเขาต้องช่วยเหลือลงแรงร่วมกันคนอื่นๆ ดังนั้นทุกสิ่งที่เรามี ความมั่งคั่งทั้งมวลก็คือผลผลิตของแรงงานมนุษย์จำนวนมากที่ส่งผ่านมารุ่นต่อรุ่น จึงบอกได้ว่า กำลังแรงงานและผลผลิตจากกำลังแรงงานนั้นเป็นสังคมนิยม ซึ่งถูกผลิตขึ้นจากสังคมโดยรวม
แต่ถ้าความมั่งคั่งทั้งมวลเป็นสังคมนิยม มันก็สมเหตุสมผลแล้วไม่ใช่หรือว่าความมั่งคั่งเหล่านั้นก็ต้องเป็นของสังคม เป็นของเหล่าผู้คนในฐานะมวลรวม แล้วมันเป็นไปได้อย่างไรกับการที่ความมั่งคั่งของโลกใบนี้ ไม่ได้เป็นของคนทุกคน แต่ถูกครอบครองโดยคนเพียงแค่บางคนเท่านั้น? ทำไมมันถึงไม่เป็นของคนที่ทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างมันขึ้นมา เหล่ามวลชนที่ใช้สมองและสองมือ เหล่าชนชั้นแรงงาน
คุณก็รู้ดีอยู่แล้วว่าคนที่ครอบครองความมั่งคั่งของโลกใบนี้ไว้มากที่สุดก็คือเหล่าชนชั้นนายทุน แล้วเราไม่ควรสรุปหรือว่า เหล่าแรงงานได้สูญเสียความมั่งคั่งที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา หรือมันได้ถูกพรากไปจากพวกเขา?
พวกเขาไม่ได้สูญเสียมันแต่อย่างใด เพราะพวกเขาไม่เคยเป็นเจ้าของมันเลย ดังนั้นหมายความว่ามันถูกพรากจากพวกเขาไปต่างหาก
เอาล่ะ นี่เริ่มจะจริงจังขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะว่าถ้าคุณบอกว่าความมั่งคั่งที่พวกเขาสรรค์สร้างขึ้นมาได้ถูกพรากไปจากพวกเขา นั่นหมายความว่าพวกเขาถูกแย่งชิง ถูกปล้น เพราะเป็นที่แน่นอนว่าไม่มีใครที่จะยอมให้สิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมาถูกพรากไป
Berkman, Alexander. 2003. What is Anarchism (Working Class Series 1). Edinburgh: AK Press.
ต้นฉบับนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่: Slaves Without Masters
เผยแพร่ซ้ำโดยคำอนุญาตจากผู้เขียน