Gabriel Ernst & Pathompong Kwangtong

การทดลองครั้งสำคัญได้เกิดขึ้นท่ามกลางเถ้าถ่านแห่งสงครามซีเรีย นี่คือความพยายามอันจริงจังและกล้าหาญในการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในช่วงชีวิตของเรา ตลอดเวลาสี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสงครามกลางเมืองนองเลือดแห่งศตวรรษที่ 21 การทดลองครั้งนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น เสมือนเป็นดั่งเกาะแห่งสันติภาพ ความปลอดภัย และความเท่าเทียม เป็นสังคมที่ไร้ตำรวจ มีหลักประกันสุขภาพ อาหาร การศึกษา และที่อยู่อาศัยฟรี โดยผู้นำคือ สตรี คนจน และชนชั้นล่าง

ขอต้อนรับสู่โรจาวา

เดือนมกราคม 2014 ผมอยู่ที่ลอนดอนเหนือ ณ ใจกลางงานฉลองยามเย็นของชุมชมชาวเคิร์ด มีการเล่นเพลง เด็กๆ วิ่งว่อนไปทั่ว ผู้หญิงเต้นรำ ส่วนผู้ชายก็จิบชา หัวเราะ และยิ้มร่า ทั่วทั้งงานเต็มไปด้วยความสุข

พวกเขาเฉลิมฉลองให้กับการปลดปล่อยโรจาวา พื้นที่เล็กๆ แห่งหนึ่งในซีเรีย ซึ่ง ณ ที่แห่งนั้น ผู้อยู่อาศัยส่วนมากเป็นชาวเคิร์ด เคยถูกปกครองโดยรัฐบาลซีเรียที่กดขี่เป็นเวลาหลายทศวรรษ เมื่อสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น อำนาจของรัฐบาลซีเรียก็หดหายไป แล้วชาวเคิร์ดก็เข้าไปยึดครอง ตั้งแต่นั้นมา เกิดการทดลองที่ยิ่งใหญ่ ณ โรจาวา ผู้คนได้พยายามนำประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ไปสู่เสรีภาพในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

ความเคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

ในโรจาวา การปกครองที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั้นถูกกลับหัวกลับหางอย่างสิ้นเชิง ปกติแล้วอำนาจรัฐส่วนใหญ่จะอยู่ระดับบน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี แต่ในโรจาวา อำนาจส่วนใหญ่อยู่ในมือของชุมชนท้องถิ่น อยู่ในระดับเพื่อนบ้าน ที่เรียกกันว่าคอมมูน (หมู่บ้าน)

ชาวโรจาวาได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เราต่อต้านระบบอำนาจจากบนลงล่าง (top-down) เราต้องการระบบที่ปฏิบัติการจากล่างขึ้นบน” หลักการของคอมมูนคือ “ไม่มีใครรู้ดีว่าคุณหรือชุมชนของคุณต้องการอะไร มากไปกว่าคุณและชุมชนคุณเอง” นี่คือองค์กรทางสังคมแบบล่างขึ้นบน หรือเรียกว่าระบบแนวระนาบ (horizontal organisation of society) นั่นเอง

คอมมูน

ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับคอมมูนนั้นเหมือนกับความสัมพันธ์ของต้นไม้กับป่า

คอมมูนคือหน่วยที่เล็กที่สุดและเป็นส่วนขับเคลื่อนหลักของสังคม ผู้คนรวมตัวกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เพื่ออภิปรายและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันทุกด้านของพวกเขา ณ ที่แห่งนี้ สมาชิกของชุมชนจะตัดสินใจเพื่อพวกเขาเอง แทนที่จะให้นักการเมืองตัดสินใจว่าระเบียบแบบแผนใดควรใช้ปกครองชุมชนของพวกเขา คอมมูนบริหารด้วยระบบผู้นำร่วม (ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง) ผู้ที่จะเป็นสมาชิกของคอมมูนได้ต้องมีอายุเกิน 16 ปี คอมมูนมีวาระประชุมสัปดาห์ละครั้ง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามบ้านต่างๆ ณ ที่แห่งนั้น พวกเขาได้สร้างกฎระเบียบในการปกครองชีวิตของพวกเขา รวมถึงมีการอภิปรายและบันทึกรายงานประจำเดือนเป็นประจำ

การเลือกผู้นำร่วมและการก่อร่างคณะกรรมการบริหาร ใช้วิธีเลือกตั้งทางตรงจากสมาชิกในคอมมูน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามความต้องการและสถานการณ์เฉพาะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฏหมายลายลักษณ์อักษร ผู้นำเหล่านี้จะปฏิบัติการเหมือนกับโฆษกและผู้จัดงาน (organisers) มากกว่าที่จะเป็นผู้นำรัฐบาลโดยทั่วไป

หากมีผู้ใด ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ไม่ประสงค์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในคอมมูน พวกเขาก็มีเสรีภาพที่จะทำเช่นนั้น และใช้ชีวิตของพวกเขาต่อไปได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม คอมมูนจะไม่ช่วยเขาอีกต่อไป และเขาจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของคอมมูนที่เขาจะได้รับประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม กรณีแบบนี้เกิดขึ้นจริงน้อยมาก

ชาวโรจาวากล่าวว่า “พวกเราต่อต้านมโนทัศน์ว่าด้วยปัจเจกนิยม ปัจเจกนิยมนั้นเหมือนกับหนูตัวป่วนที่เข้ามาทำลายสังคม ถ้าฉันสุขสบายและมีความสุข มันก็จำเป็นที่เพื่อนบ้านของฉันควรจะสุขสบายและมีความสุขด้วยเหมือนกัน ถ้าฉันหิวแต่เพื่อนบ้านมีอาหาร พวกเขาก็ควรจะดูแลฉันด้วย”

แคนตั้น

ในขณะที่คอมมูนมีอำนาจสูงสุดนั้น ยังมีระดับของรัฐบาลที่อยู่เหนือคอมมูนขึ้นไปอีก เรียกว่า แคนตั้น (ลักษณะคล้ายจังหวัด) รัฐบาลในระดับนี้ไม่เหมือนกับในประเทศอื่นโดยทั่วไป กฏหมายของคอมมูนมีอำนาจมากกว่ากฏหมายของแคนตั้น

แต่ละคอมมูนมีอำนาจเลือกผู้แทนของตนเข้าไปในแคนตั้น รายได้ส่วนมากของแคนตั้นมาจากการขายปิโตรเลียม การค้า และโครงการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ แคนตั้นยังเก็บภาษีในระดับที่น้อยมาก จากคอมมูนที่เลือกพวกเขาเข้าไป พวกเขานำรายได้เหล่านั้นไปใช้เพื่อทำโครงการใหญ่ๆ ของโรจาวา เช่น ถนนหลวง สถานีไฟฟ้า เขื่อน และอื่นๆ เงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับสวัสดิการสาธารณะ และช่วยเหลือคอมมูนเมื่อพวกเขาต้องการ

นอกจากนั้นแคนตั้นยังมีบทบาทหน้าที่สำคัญ คือการมุ่งเน้นปฏิบัติการในแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

กฏหมายที่ถูกตราขึ้นโดยแคนตั้นจะต้องถูกกรองผ่านคอมมูนอีกที ซึ่งหมายความว่า ชุมชนระดับล่างสุดมีส่วนในกระบวนการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ทำให้รูปแบบของกระบวนการตัดสินใจเป็นแบบล่างขึ้นบน

จากบทนำสั้นๆ นี้ เราเริ่มจะเข้าใจแล้วว่า ความสำคัญและความก้าวหน้าอย่างถึงที่สุด (radical) ของการทดลองในโรจาวาเป็นอย่างไร ในส่วนถัดไป เราจะเข้าไปดูคณะกรรมการบริหารฝ่ายต่างๆ ที่ช่วยบริหารโรจาวา และพยายามทำเข้าใจว่า พวกเขาทำอย่างไรถึงสามารถกำจัดระบบตำรวจ ปิดฉากลำดับขั้นความยากจน ให้บริการทางสุขภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้อำนาจแก่ผู้หญิง และให้ความหวังที่สดใสสำหรับตัวอย่างของประชาธิปไตยแห่งอนาคต

คณะกรรมการต่างๆ

ณ มุมหนึ่งของเมืองเล็กๆ ในโรจาวา เพื่อนบ้านเข้าพบกันในห้อง ตัวแทนจากร้อยครอบครัวมารวมกัน พบปะสังสรรค์พูดคุย ดื่มชาก่อนที่จะเริ่มการประชุม นี่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงที่ก้าวหน้าและท้าทายความรับรู้ของเราเกี่ยวกับประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ก่อนหน้านี้ เราเน้นไปที่บทบาทของคอมมูนและแคนตั้นของโรจาวา ในส่วนที่จะกล่าวต่อไปนั้น เราจะมองให้ลึกลงไปในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยระบบของโรจาวาที่ทำงานประสานกัน และขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

โครงสร้างของแต่คอมมูน ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ ๖ ส่วน

  • คณะกรรมการป้องกันตนเอง
  • คณะกรรมการสุขภาพ
  • คณะกรรมการสันติ
  • คณะกรรมการเศรษฐกิจ
  • คณะกรรมการการศึกษา/คณะกรรมการยุวชน 
  • คณะกรรมการสตรี

หนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักเบื้องหลังการทดลองในโรจาวา คือมโนทัศน์ที่ว่า “ยิ่งองค์ความรู้กระจุกตัวอยู่ในคนจำนวนน้อยมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คนกลุ่มนั้นมีโอกาสที่จะสร้างอำนาจกดขี่ต่อผู้คนที่ต้องพึ่งพาพวกเขา”

ชาวโรจาวาเชื่อว่า ไม่มีประโยชน์ต่อใครเลยที่องค์ความรู้จะถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญ การแบ่งปันภูมิปัญญาเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการทวงคืนองค์ความรู้ที่ครั้งหนึ่งเคยส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่ถูกขโมยไปโดยรัฐ และกีดกันการเข้าถึงจากกลุ่มคนที่มีอำนาจ แล้วนำไปขายเพื่อทำกำไรจากผู้คน กลับมาสู่สังคม

สถาบันส่วนใหญ่ของชุมชนคือสถาบันเพื่อการฝึกฝนและแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนในชุมชนสามารถช่วยเหลือผู้อื่นอย่างยั่งยืน และได้ควบคุมทิศทางการบริหารของชุมชนโดยตรง

เพื่อจะเข้าใจว่าชุมชนแห่งนี้ทำงานอย่างไร ภายใต้บริบทสังคมขนาดใหญ่ และอะไรที่พวกเขาทำสำเร็จบ้างเมื่อร่วมมือกัน เราจึงจำเป็นต้องเข้าไปดูสถาบันต่างๆ เหล่านี้ ดังที่จะกล่าวต่อไป

คณะกรรมการป้องกันตนเอง

ในโรจาวา ผู้คนอยู่ด้วยกันภายใต้วัฒนธรรม ศาสนา ตำรวจ และรัฐบาลที่หลากหลาย เนื่องจากประสบการณ์ที่ต้องอาศัยภายใต้รัฐบาลซีเรีย พวกเขาจึงตั้งเป้าหมายที่จะลดอำนาจรัฐให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มีใครมีอำนาจเหนือผู้อื่น

คณะกรรมการป้องกันตนเองถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแทนที่ตำรวจ ซึ่งแม้จะปฏิบัติการคล้ายตำรวจในรัฐทั่วไป แต่ก็มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างอยู่มาก ผู้นำของคณะกรรมการป้องกันตนเองมีที่มาโดยการเลือกตั้งจากแต่ละคอมมูน (หนึ่งชายหนึ่งหญิง) พวกเขาปฏิบัติการภายใต้ความต้องการของผู้คนที่เลือกเขามาเท่านั้น ไม่ได้ตัดสินใจเองโดยตรง

พวกเขาถูกฝึกในเรื่องการป้องกันตนเอง อาวุธ กลยุทธ์ และการปกครอง พวกเขาอาจถูกเรียกจากคอมมูนท้องถิ่นได้ทันที หากพวกเขาปฏิบัติการในทิศทางที่ขัดแย้งกับความต้องการของคอมมูน คณะกรรมการนี้จะมีการประชุมเป็นประจำ ซึ่งพวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์กันเองในทางสร้างสรรค์ และกระตุ้นให้ผู้อื่นวิพากษ์วิจารณ์พวกเขา เพื่อให้เกิดการพัฒนามากที่สุดเท่าที่ทำได้

สมาชิกของคณะกรรมการป้องกันตนเองจะมีการหมุนเวียน ผู้คนในคอมมูนจะสลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เป้าหมายก็เพื่อให้ที่สุดแล้วสมาชิกทุกคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่เรื่องการป้องกันตนเองในบางครั้ง แม้แต่ผู้สูงอายุก็ตาม

เนื่องด้วยว่า กฏส่วนใหญ่ในชุมชนสร้างขึ้นจากพวกเขาเอง จึงมีอาชญากรรมที่ต้องแก้ปัญหาน้อยมาก ทำไมจะต้องแหกกฏที่คุณสร้างขึ้นเอง? เอาล่ะ โดยสรุปแล้ว คณะกรรมการป้องกันตนเองแตกต่างจากตำรวจอย่างไรบ้าง?

  • สมาชิกของคณะกรรมการทุกคนถูกเลือกและมาจากชุมชนท้องถิ่น 
  • พวกเขาปฏิบัติการภายใต้การสั่งการจากชุมชนท้องถิ่นของพวกเขาเท่านั้น ไม่ใช่ภายใต้รัฐชาติหรือกฏหมายของมัน
  • พวกเขาอาจถูกริบอำนาจในทันที หากพวกเขากระทำการขัดแย้งต่อความต้องการของชุมชนพวกเขา
  • สมาชิกมีการหมุนเวียน ดังนั้นอำนาจของพวกเขาจึงแผ่ซ่านไปทั่วถึงสมาชิกทุกคนในชุมชน
  • ด้วยวิถีปฏิบัตินี้ อำนาจและความปลอดภัยจะไม่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้เชี่ยวชาญ แต่อยู่ภายในชุมชนเอง

คณะกรรมการสุขภาพ

สำหรับผู้ที่อยู่ในคอมมูน การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ สมาชิกคณะกรรมการสุขภาพผู้หนึ่งกล่าวว่า “ก่อนการปลดปล่อยโรจาวา บริการสุขภาพได้ผูกติดแนบแน่นกับอำนาจของรัฐบาล ดังนั้น ตอนนี้เราจึงสร้างระบบ ภายใต้รากฐานใหม่ที่พยายามกำจัดการผูกติดนี้”

เป้าหมายของการพัฒนาบริการสุขภาพในโรจาวาคือ

  • เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างผู้ให้บริการทางสุขภาพกับการควบคุมอำนาจ (the control of power)
  • เพื่อวิพากษ์และก่อร่างความสัมพันธ์ ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ขึ้นอีกครั้ง
  • เพื่อคืนความเป็นเจ้าของเรื่องสุขภาพให้สังคม

เป้าหมายคือการลดภาวะพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อการนั้น แต่ละคอมมูนได้เลือกผู้นำคณะกรรมการสุขภาพ (หนึ่งหญิงหนึ่งชาย) ให้ไปฝึกจากแพทย์ แล้วกลับมาฝึกให้สมาชิกทุกคนที่ต้องการเรียนปฐมพยาบาล ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้องค์ความรู้ทางสุขภาพเกิดการกระจุกตัว หรือกีดกันโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วนำไปขายทำกำไร วิธีนี้จะทำให้ปฏิบัติการช่วยชีวิตกระจายออกไปมากที่สุด

รูปแบบการบริการทางสุขภาพของคอมมูน พยายามรวมเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการวิจัยที่ทันสมัยมากที่สุด เข้ากับการแพทย์พื้นบ้าน บางคอมมูนจัดทริปร่วมกันเก็บสมุนไพรที่ใช้ในการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์แผนปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้านบินาร์ (Binar) สมาชิกหมู่บ้านอาสาสมัครปลูกและเก็บเกี่ยว “สมุนไพรซูแมก” (Sumac) ร่วมกัน โดยเก็บเท่าที่จำเป็นต่อพวกเขาเอง แล้วแบ่งปันที่เหลือให้กับเพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง สมาชิกหมูบ้านผู้หนึ่งกล่าวว่า “ซูแมกมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง มันช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง ป้องกันเบาหวาน เพิ่มความแข็งแรงต่อเหงือก และช่วยด้านการเจริญเติบโตของเด็ก” นี่คือส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงกับคณะกรรมการสุขภาพ ซึ่งคือการป้องกันโรคภัยไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกนั่นเอง หลายประเทศใช้เงินเป็นจำนวนมากไปกับการรักษาโรค แต่แทบไม่ได้ใช้ทรัพยากรไปกับการป้องกันโรคเลย “ระบบรัฐมองสังคมราวกับว่าสังคมนั้นป่วยและต้องการการรักษา แต่มันคือตัวระบบต่างหากที่เป็นโรคร้ายของสังคม”

ในปี 2018 คอมมูนในฮาลานจ์ (Halanj) จำนวนสี่แห่งได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้งศูนย์การแพทย์เพื่อพวกเขาเองและพื้นที่รอบข้าง สมาชิกหมู่บ้านบริจาคเท่าที่พวกเขาทำได้เพื่อช่วยซื้ออุปกรณ์การแพทย์ในศูนย์การแพทย์แห่งนั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้ป่วยเข้าไปรักษาในศูนย์การแพทย์ พวกเขาจะได้รับการรักษาฟรี

ด้วยวิถีปฏิบัตินี้ การเข้าถึงยาและบริการทางสุขภาพจะไม่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรผู้เชี่ยวชาญ (เพื่อกำไร)  แต่จะอยู่ในชุมชนเอง

คณะกรรมการสันติ

ปัญหาที่พบบ่อยในสังคมเราคือการแยกตัวโดดเดี่ยว และเป็นเรื่องง่ายเสียเหลือเกินที่เราจะมีปัญหากับเพื่อนบ้านและสมาชิกในสังคมเราเอง นี่ทำให้ผู้คนโทรเรียกตำรวจแทนที่จะพูดคุย หาทางแก้ปัญหาร่วมกัน สำหรับเราแล้ว บ้านของเราคือสถานที่ที่จะกลับหลังจากวันอันยาวนานในที่ทำงาน บางทีเราอาจจะทักทายเพื่อนบ้านแล้วเดินเข้าบ้าน ปิดประตู ดูทีวี ก่อนที่จะเริ่มวันใหม่อีกครั้งเมื่อพรุ่งนี้มาถึง

การผลักความขัดแย้งของเราไปให้ตำรวจจัดการเป็นเรื่องง่าย หลังจากนั้นเราก็ลืมวิธีจัดการกับปัญหาด้วยตัวเอง เมื่อเรายกหูโทรศัพท์ขึ้น เราจะไม่มีวันได้ยินเสียงร้องจากบางคนในห้องขัง หรือเสียงอุทธรณ์ในชั้นศาล

เราได้อภิปรายเรื่องคณะกรรมการป้องกันตนเอง ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดการด้านความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยไปแล้ว แต่ขั้นถัดไปคือเรื่องความยุติธรรม ซึ่งในหลายประเทศจะมีระบบศาล และในโรจาวาก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คดีส่วนใหญ่ไม่เคยขึ้นถึงชั้นศาล ข้อพิพาทส่วนมากแก้ไขได้ภายใต้คณะกรรมการสันติ 

เป้าหมายของคณะกรรมการสันติไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การลงโทษหรือตำหนิ แต่เน้นการแก้ไขปัญหา ด้วยกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทามติเป็นหลัก ถ้าบางคนแหกกฏของคอมมูนที่ได้ตกลงกันไว้ สมาชิกจะพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงทำเช่นนั้น และพยายามเข้าใจเงื่อนไข รวมทั้งบริบทภายใต้การกระทำดังกล่าว

ทุกๆ คอมมูนจะมีคณะกรรมการสันติ ซึ่งเพื่อนบ้านพยายามจะแก้ข้อพิพาทด้วยกระบวนการให้ได้มาซึ่งฉันทามติ พวกเขาประชุมกันในสถานที่ที่ไม่เป็นทางการ เช่นบ้านของพวกเขา คณะกรรมการสันติยังแบ่งเป็นสองส่วนย่อย ส่วนแรกรับผิดชอบด้านปัญหาและอาชญากรรม และอีกส่วนคือ “คณะกรรมาธิการสตรี” ซึ่งรับผิดชอบกรณีความรุนแรงในครอบครัว ข้อพิพาทในครอบครัว และปัญหาของสตรี ปัญหาที่เกี่ยวกับความรุนแรงจากปิตาธิปไตยจะไม่มีทางตัดสินโดยผู้ชายอย่างเด็ดขาด

ผู้อาศัยในคอมมูนทุกคนจะเข้ามารวมกัน เลือกตัวแทนห้าถึงเก้าคนเพื่อก่อตั้งคณะกรรมการ โดยที่อย่างน้อย 40% ของสมาชิกต้องเป็นผู้หญิง สมาชิกเหล่านี้มีภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องความเที่ยงตรง ฉลาด และเจรจาเก่ง อย่างไรก็ตาม การหมุนเวียนสมาชิกให้ทุกคนในคอมมูนได้มีประสบการณ์ปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการ ก็เป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนเฉกเช่นคณะกรรมการอื่นๆ

พวกเขาจะคิดจากมุมมองที่ว่า “เราจะกำจัดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปัญหานี้ เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร” แทนที่จะเป็น “เราจะทำร้ายคนคนนี้ ให้สาสมกับที่ทำร้ายคนอื่นได้อย่างไร?”

แน่นอนว่า ถ้าคนคนนั้นแหกกฏที่ไร้สาระ และไม่เหมาะสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่อีกต่อไป กฏนั้นก็อาจถูกลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงได้ ต้องขอบคุณศักยภาพจากปฏิบัติการตรงของระบบคอมมูน ที่ซึ่งกฏการปกครองสามารถเปลี่ยนได้โดยง่าย ขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์ขณะนั้น 

บางครั้งในกรณีสุดขั้ว การลงโทษทางสังคมอาจจำเป็นต่อบางคนหรือบางกลุ่ม โดยทั่วไปแล้ว นี่หมายความว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องบำเพ็ญประโยชน์ในงานของชุมชน หรือทำงานให้คนที่ถูกทำร้ายจากการกระทำของผู้กระทำความผิด ทั้งนี้มักจะตามด้วยช่วงเวลาการอบรมในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นๆ จนกว่าผู้เสียหายและชุมชนจะพอใจ และผู้กระทำความผิดจะไม่ทำร้ายพวกเขาอีก มีเพียงแค่กรณีที่แย่ที่สุดเท่านั้นที่จะเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล และแม้กระทั่งไปถึงจุดนั้น พวกเขาก็จะต้องผ่านตัวกลางหลายขั้นตอนเพื่อที่จะหาทางออกในระดับคอมมูน

ด้วยวิถีปฏิบัตินี้ ความยุติธรรมจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐบาลระดับชาติ แต่อยู่ในชุมชนเอง

คณะกรรมการเศรษฐกิจ

ภาคส่วนทางเศรษฐกิจของโรจาวาที่กำลังเติบโตคือ สหกรณ์แรงงาน แม้ว่าธุรกิจยังคงมีอยู่ก็ตาม เป้าหมายขององค์กรรูปแบบใหม่นี้คือการแทนที่ธุรกิจทั่วไปด้วยสิ่งที่เท่าเทียม และเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของผู้คนได้มากกว่า 

โดยปกติแล้วในโรจาวานั้น สมาชิกของคอมมูนจะตัดสินใจว่าสหกรณ์แบบใดควรเกิดขึ้น เช่น ฟาร์ม เบเกอร์รี่ ร้านอุปกรณ์ ร้านซ่อมสิ่งของ และอื่นๆ เนื่องจากสมาชิกคอมมูนตัดสินใจว่าอะไรที่พวกเขาต้องการให้เปิดเป็นสหกรณ์ นั่นจึงหมายความว่า ไม่ใช่เพียงแต่คนงานเท่านั้นที่จะยุ่งกับการผลิต แต่เป็นทั้งสังคม ที่สามารถบอกได้ว่าสิ่งไหนที่พวกเขารู้สึกว่าจำเป็น และเป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขาคือคนที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ของพวกเขา

วิธีนี้ทำให้เกิดประโยชน์มากไปกว่าแค่เรื่องการเงิน ตัวอย่างเช่น ชุมชนไม่มีทางโหวตให้สร้างมลพิษต่อเพื่อนบ้านของพวกเขา ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อนุญาตให้คนกลุ่มเล็กๆ (เจ้าของธุรกิจ) ตัดสินใจด้วยวิถีทางที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตคนมากมาย โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจนั้นเลย ระบบเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ในโรจาวาคือทางแก้ปัญหานี้

สหกรณ์เป็นสิ่งที่พัฒนาช้าเมื่อเทียบกับสิ่งอื่นๆ ในโมเดลของโรจาวา เหตุผลหลักเป็นเพราะเคยถูกปกครองด้วยรัฐบาลซีเรียมาก่อน ทำให้เกิดการเกษตรเชิงเดี่ยวและปลูกแค่พืชที่ทำเงิน ซึ่งรูปแบบนี้ไม่ยั่งยืนสำหรับผู้คนในท้องถิ่น เพราะพวกเขาไม่ได้ผลิตและพัฒนาทรัพยากรให้อยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง และทำให้ในช่วงเวลานั้นพวกเขาจึงต้องพึ่งพิงพื้นที่อื่นๆ ของซีเรียและโลกเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบและอาหาร

รูปแบบทางเศรษฐกิจของโรจาวาไม่เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบรุนแรงแข็งกร้าวอื่นๆ (radical society changes) ในอดีต เช่น การปฏิวัติรัสเซียหรือจีน ระบบเศรษฐกิจของโรจาวาไม่ได้มีพื้นฐานมาจากปฏิรูปกรรมสิทธิ์ที่ดินขนาดใหญ่ หรือการบังคับให้ทำงานร่วมกัน (force collectivisation) ในโรจาวานั้น การเปลี่ยนแปลงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป พยายามจะสร้างเศรษฐกิจจากเบื้องล่างด้วยความสมัครใจ ด้วยวิธีการพบปะกันโดยตรง ให้การศึกษา หรือประกาศผ่านสาธารณะ (public service announcements) ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวจะได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมในโครงการของคอมมูน ด้วยวิธีการชักจูงจากสังคม มิใช่ใช้กำลังบังคับ

การชักจูงนี้มีทั้งการลดและยกเลิกภาษี ถ้าธุรกิจส่วนตัวแบ่งปันเครื่องมือและเครื่องจักรของเขา แลกเปลี่ยนและผลิตร่วมกับคอมมูน พวกเขาจะได้รับการลดราคาสินค้าอื่น และได้รับการช่วยเหลือจากคณะกรรมการคอมมูนเมื่อต้องการ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักคือการให้คณะกรรมการเศรษฐกิจสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องมีธุรกิจส่วนตัว

หนึ่งในตัวอย่างสหกรณ์รูปแบบทั่วไปมีให้เห็นในหมู่บ้าน ซีฮิต คานี (Sehit Kani) ณ ที่แห่งนั้น มีสหกรณ์การเกษตรอันประกอบไปด้วยสมาชิก 26 คน พวกเขามีที่ดิน 3 เอเคอร์ และสมาชิกสหกรณ์ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน พวกเขาแบ่งเป็น 6 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสมาชิก 5 คน กลุ่มแต่ละกลุ่มจะทำงานหนึ่งวัน และทุกวันศุกร์ ทุกกลุ่มจะเข้ามาช่วยกันทำงาน 

ผลผลิตทั้งหมดจากฟาร์มจะขายเข้าสู่ตลาดท้องถิ่น และเงินที่ได้ก็จะแจกจ่ายให้สมาชิกสหกรณ์เท่ากัน เด็กๆ ก็มีส่วนร่วม พวกเขาเข้าไปในฟาร์มพร้อมกับครอบครัว พวกเขาเล่นกับเพื่อนๆ ที่นั่น ร่วมกับเรียนรู้การเกษตรไปด้วย นี่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงดูเด็ก พร้อมกับสอนพวกเขาเรื่องความยั่งยืนไปในตัว

สหกรณ์ยังช่วยออมเงินให้พวกเขาเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต (safety net) สำหรับสมาชิกไว้ใช้ในกรณีที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งแม้พวกเขาจะทำงานไม่ได้ สมาชิกสหกรณ์ก็ยังสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เงินก้อนนี้ยังใช้ไปกับการจ่ายต้นทุนทางสังคมใหญ่ๆ เช่น การแต่งงาน หรือฌาปนกิจศพ

ด้วยการสนับสนุนจากคณะกรรมการเศรษฐกิจในคอมมูน พวกเขาสามารถซื้ออาหารหรือสินค้าสำคัญปริมาณมากในคราวเดียวได้ แล้วนำไปแจกจ่ายให้สมาชิกในคอมมูนตามความจำเป็น วิธีการซื้อปริมาณมากในคราวเดียวทำให้ลดค่าใช้จ่ายจากพ่อค้าคนกลาง และได้ราคาถูกกว่าเดิมประมาณ 20-30% นอกจากนี้คอมมูนยังมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนอีกด้วย

ด้วยวิถีปฏิบัตินี้ ความรับผิดชอบด้านการงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่ แต่อยู่ในชุมชนเอง

คณะกรรมการการศึกษา

เราได้อภิปรายไปแล้วว่าโรจาวามุ่งมั่นตั้งใจแค่ไหน ในการกระจายองค์ความรู้และข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ นั่นเป็นที่มาว่าทำไมคณะกรรมการการศึกษา จึงเป็นหนึ่งในลักษณะสำคัญที่สุดของโรจาวา ก่อนการเกิดขึ้นของปฏิบัติการนี้ โรงเรียนของรัฐบาลซีเรียหมกมุ่นอยู่กับความคิด “ภาษาเดียว ชาติเดียว รัฐเดียว ธงเดียว ศาสนาเดียว” กีดกันความเชื่อ ภาษา และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ออกไป

ในคอมมูนที่ประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ต้องแน่ใจว่าการศึกษาจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมตนเอง ขณะที่สนับสนุนให้มีการร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน

แต่สิ่งที่ทำให้โรงเรียนของโรจาวาแตกต่างก็คือครู (ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง) ครูจะถูกมองว่าเท่าเทียมกับนักเรียนและเป็นดั่งผู้ช่วยเหลือในการเรียนรู้ (facilitators) ด้วยวิธีนี้ นักเรียนและสมาชิกคอมมูนจะเป็นผู้นำ และตัดสินใจว่าครูจะจัดการเรียนการสอนและบทเรียนอย่างไร รวมถึงวิชาอะไรบ้างที่จะมีการเรียนการสอน ซึ่งการตัดสินใจจะทำร่วมกันระหว่าง ครู นักเรียน ครอบครัว และคณะกรรมการอื่นๆ ทำให้โรงเรียนในแต่ละคอมมูนสามารถแตกต่างกันได้ ตามแต่ความต้องการของผู้คนบริเวณนั้น

นอกจากนี้ยังมีระบบที่เรียกว่า สำนักวิชาการ (academy) สำหรับวัยรุ่นและเยาวชน คล้ายๆ กับวิทยาลัย  ซึ่งสอนทักษะและความรู้เฉพาะทาง ตัวอย่างเช่น บางสำนักวิชาการสอนสิ่งแวดล้อม การป้องกันตนเอง สหชาติศึกษา (international studies) บริการสุขภาพ (healthcare) และสตรีศึกษา ทั้งยังมีสำนักวิชาการนานาชาติ สำหรับอาสาสมัครต่างชาติด้วย

ในสำนักวิชาการต่างๆ นักศึกษาและอาจารย์มักอาศัยอยู่ด้วยกัน สถานศึกษาจึงกลายเป็นชุมชนในตัวมันเอง ทุกคนร่วมกันรับผิดชอบ ประกอบอาหาร ทำความสะอาด เรียน และทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ร่วมกัน โดยมากแล้ว นักศึกษาและอาจารย์ในสำนักวิชาการมักจะทำวิจัยและวิทยานิพนธ์ร่วมกัน การร่วมมือกันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการแก้ปัญหาตามหลักจรรยาของประชาธิปไตย

นอกเหนือไปจากโรงเรียนและสำนักวิชาการแล้ว คอมมูนและคณะกรรมการฯ ยังจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เช่น การป้องกันตนเอง การปฐมพยาบาล การขับขี่ยานยนต์ กีฬา สื่อ กิจกรรมทางวัฒนธรรม การเกษตร และอื่นๆ อีกมามาย

ด้วยวิถีปฏิบัตินี้ การศึกษาและวิชาเรียนต่างๆ จึงไม่ได้ถูกเลือกโดยรัฐบาลของชาติ แต่มาจากชุมชนเอง

คณะกรรมการสตรี

ขบวนการสตรีนิยมเพื่อความเท่าเทียม เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดของสังคมประชาธิปไตยที่กำลังสร้างขึ้นในโรจาวา ด้วยเหตุที่ว่า แม้ผู้หญิงจะมีจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด แต่เมื่อมองไปแล้ว พวกเธอยังคงเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ถูกกดขี่อยู่ทั่วทั้งโลก ดังนั้นการจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริงได้  จึงต้องลงแรงไปที่การปลดปล่อยผู้หญิงให้มากพอ ให้สมกับที่ผู้หญิงมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนการทดลองโรจาวา

สิ่งนี้ก่อให้เกิดผลตามมามหาศาล เมื่อเทียบกับสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของภูมิภาคแล้ว ผู้หญิงที่นั่นประสบพบเจอการกดขี่ที่แย่ที่สุดในโลกในช่วงชีวิตของเรา ตั้งแต่การคลุมถุงชน ไปจนถึงการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ภายใต้กฏหมายของรัฐบาลที่แล้ว ผู้หญิงเคยถูกปฏิบัติดังเช่นพลเมืองชั้นสอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้หญิงจึงมีบทบาทนำ และประสบผลสำเร็จที่สุดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสรีภาพของพวกเธอเมื่อเทียบกับผู้คนทั้งหมดในโรจาวา

องค์กรสำคัญที่สุดองค์กรหนึ่งของกลุ่มสตรีในโรจาวาคือ YPJ ซึ่งเป็นกองทัพอิสระของสตรีที่ไม่มีผู้ชายอยู่เลย กองทัพนี้ได้ปกป้องโรจาวาจากกลุ่มไอซิส (ISIS) และรัฐบาลเติร์ก กองทัพนี้เข้าร่วมกับกองกำลังประจำการของโรจาวา (YPG) แต่ก็มีอิสระในตนเองอย่างเต็มที่และไม่ต้องรายงานต่อผู้ชายคนใด

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ เราจะเข้าไปดูการเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นภายในคอมมูน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างช้าๆ คณะกรรมการสตรีใช้เวลาส่วนใหญ่ เดินสายไปที่บ้านแต่ละหลังหลังในเมืองหรือหมู่บ้านจนครบ ไปเคาะประตู พูดคุยกับผู้หญิง รับฟังเรื่องทุกข์ร้อน เสนอหนทางช่วย และเชื้อเชิญให้เข้าร่วมคณะกรรมการของพวกเธอ  

ผู้ชายก็ได้รับการสนับสนุนให้ช่วยเหลือขบวนการเพื่อเสรีภาพของผู้หญิงเช่นกัน ด้วยการศึกษาด้วยตนเอง รับฟังผู้หญิงในชีวิตของเขา และเป็นเพื่อนชายที่มีความรับผิดชอบ คณะกรรมการของสตรีชี้ให้เห็นเป็นประจำว่า สังคมชายเป็นใหญ่นั้นก็ทำร้ายผู้ชายด้วยเช่นกัน โดยการปิดกั้นอารมณ์ของพวกเขา และบังคับให้เข้ากับลักษณะ “ผู้ชายในอุดมคติ” ที่เป็นไปไม่ได้ ผู้ชายก็ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมขบวนการเพื่อเสรีภาพของสตรี โดยการกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้นผ่านความซับซ้อนที่อารมณ์ เช่น ความรักใคร่ ความเศร้าโศก ความกลัว และอื่นๆ นำมาให้ การศึกษาเหล่านี้และการอบรมเชิงปฏิบัติการต่างๆ ขับเคลื่อนโดยอาสาสมัครในคณะกรรมการสตรีในที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน สำนักวิชาการ และที่ประชุมของคณะกรรมการอื่นๆ

ตอนนี้ ในหลายคอมมูน จะมีกองกำลังป้องกันตนเองของผู้หญิง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการป้องกันตนเองทั่วไป และคณะกรรมการสตรี เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันตนเอง ซึ่งเราได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้ 

ในแทบทุกคอมมูนจะมีบ้านที่เรียกว่า *บ้านสตรี* ซึ่งเป็นที่ที่ผู้หญิงสามารถเข้าไปหลบหนีความรุนแรงในครอบครัว หรือนำสามีของพวกเธอมาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของผู้หญิง หรือแก้ปัญหาในครอบครัวได้ บ้านแห่งนี้มักจะมีการจัดการเรียนการสอน หรืออบรมเชิงปฏิบัติการที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับสุขภาพและสิทธิสตรีได้ พื้นที่แห่งนี้เป็นอิสระจากคณะกรรมการอื่นๆ และผู้หญิงมีอิสระที่จะเข้าหรือออกตามความปรารถนาของเธอไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะใช้เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่ต้องการหลบหนีความรุนแรงจากสามีของพวกเธอ

ด้วยวิถีนี้ สิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงก็เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่โดยกฏหมายของชาติหรือรัฐบาล แต่จากผู้หญิงในชุมชนเอง

เราเรียนรู้อะไรบ้างจากคอมมูนและคณะกรรมการต่างๆ?

ในหลายประเทศ ผู้คนมักคิดว่าเราแค่หย่อนบัตร ปล่อยให้กลไกการเลือกตั้งทำงาน แล้วมันจะแก้ปัญหาให้เราได้ หรือเราสามารถขอให้ตำรวจสร้างสังคมที่สมบูรณ์แบบให้เรา หรือเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ จากแค่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเราเอง

สิ่งที่ผู้คนในโรจาวาแสดงให้เราเห็นคือ การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงสามารถเกิดขึ้นได้ โดยใช้เวลาไม่นาน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ 6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สงครามนองเลือดที่สุดในสมัยเราเป็นฉากหลัง

ชุมชนโรจาวาใช้เวลาสร้างรากฐานสำหรับโครงสร้างเหล่านี้หลายปี ผ่านกระบวนการประชุมพบปะใกล้ชิด ทั้งในบ้านเรือน ถนนหนทาง รวมถึงที่อื่นๆ ในหมู่เพื่อนบ้านด้วยกัน

คอมมูนทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ เพราะผู้คนสร้างประชาธิปไตยทางตรงในระดับเพื่อนบ้านและชุมชน ปัญหาต่างๆ ที่เราเจอในโลกทุกวันนี้อย่าง อาทิ คอร์รัปชั่น มลภาวะ ความเกลียดชังขัดแย้งทางชนชั้น ชาติพันธุ์ ศาสนา ปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืน ความเกลียดชังผู้หญิง ความโดดเดี่ยว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถจัดการให้เป็นระบบได้ง่ายขึ้น หากเราเริ่มต้นจากการมีรากฐานของคอมมูนที่แข็งแกร่งนี้